Cold Chain Logistics ระบบขนส่งควบคุมอุณหภูมิ
การพัฒนาโซ่ความเย็น หรือ Cold Chain Logistics สำหรับระบบโลจิสติกส์ในภาคอุตสาหกรรมอาหารขึ้นมาที่จะทำให้ระบบขนส่งมีประสิทธิภาพ โดยลดการสูญเสีย (Food Loss) และรักษาคุณภาพของสินค้าอาหารให้สดใหม่ มีความปลอดภัย (Food Safety)
ทำความรู้จักกับ Cold Chain logistics
ระบบขนส่งควบคุมอุณหภูมิ หรือ Cold Chain Logistics คือ กระบวนการจัดการกิจกรรมในการเก็บรักษาและกระจายสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ โดยการใช้คลังสินค้าห้องเย็นและรถห้องเย็น ฯลฯ เพื่อให้สินค้าคงความสดใหม่ รักษาคุณภาพ และยืดอายุการเก็บรักษา ด้วยการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และสภาพแวดล้อมที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับประเภทสินค้าในทุกขั้นตอนของกระบวนการจัดเก็บและขนส่งเย็น
โดยทั่วระบบขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิจะเกี่ยวข้องกับการวางแผนระบบโลจิสติกส์เพื่อการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีองค์ประกอบสำคัญทั้ง 4 ปัจจัยหลัก
1.ระบบทำความเย็น (Cooling System) การลดและรักษาระดับอุณหภูมิหรือการทำความเย็น เพื่อทำให้สภาพแวดล้อมหรือพื้นที่จัดเก็บมีความเหมาะสมในการเก็บรักษาและขนส่งสินค้า โดยให้ความสำคัญในเรื่องอุณหภูมิ ความชื้น และความเข้าใจในสินค้า
2. คลังสินค้าห้องเย็น (Cold Storage) พื้นที่จัดเก็บสินค้าที่มีการควบคุมอุณหภูมิภายในให้มีความเหมาะสม สำหรับการจัดเก็บสินค้าในช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนเข้าสู่กระบวนการกระจายสินค้าในขั้นต่อไป เพื่อการเก็บรักษาสินค้าในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิและความชื้นคงที่อย่างสม่ำเสมอ
3. รถห้องเย็น (Cold Transport) ยานพาหนะหลักที่ใช้ในการขนส่งเย็น เพื่อการเคลื่อนย้ายสินค้าจากคลังห้องเย็นไปสู่จุดจำหน่ายสินค้า หรือปลายทางที่ต้องการจัดส่ง ซึ่งเป็นรถขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิด้วยการรักษาอุณหภูมิและความชื้นให้คงที่ในระบบปิด เพื่อคงความสมบูรณ์ของสินค้า ป้องกันการปนเปื้อน และทนต่อสภาพอากาศภายนอกตลอดเส้นทางการขนส่ง
4. การแปรรูปและการจัดจำหน่าย (Cold Processing and Distribution) กระบวนการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับบรรจุภัณฑ์ การแปรรูปสินค้า การรวมและแยกส่วนประกอบเพื่อการการกระจายสินค้าควบคุมอุณหภูมิ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน กระบวนการบรรจุ และการรับรองด้านสุขอนามัย เพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าและลดการสูญเสียในระหว่างการขนส่ง
ข้อดีของระบบขนส่งควบคุมอุณหภูมิในธุรกิจอาหาร
1.ช่วยรักษาคุณภาพของสินค้าอาหารให้สมบูรณ์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน
2.ช่วยเก็บรักษาสินค้าให้อยู่ได้นานตามอายุการเก็บรักษาสินค้า (Shelf Life)
3.ช่วยลดความเสี่ยงในการปนเปื้อน (Contaminant) หรือเน่าเสียของสินค้า
4.ช่วยลดปัญหาการสูญเสียอาหาร (Food Loss) หรือขยะอาหาร (Food Waste)
5.ช่วยลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า เนื่องจากสามารถลดการสูญเสียสินค้าระหว่างขนส่งได้
6.ช่วยยกระดับคุณภาพและเพิ่มความปลอดภัยของสินค้าอาหาร (Food Safety) มากยิ่งขึ้น
BY: Patch
ที่มา: cogistics