ERP และ MRP โซลูชันที่องค์กรควรรู้จัก
ในช่วงปี 2565-2567 นี้ เป็นช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมในไทยมีแนวโน้มจะฟื้นตัวสูงขึ้น โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยถึง 4% ต่อปี จากการที่เศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว ถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการจะต้องเร่งพัฒนาและปรับปรุงระบบการทำงาน เพื่อให้เท่าทันกระแสการฟื้นตัว และการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเข้มข้นขึ้น วันนี้เราจะมาแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับระบบ ERP และ MRP โซลูชันที่จะช่วยให้คุณบริหารจัดการองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นกว่าที่เคย และมาดูกันว่า ระบบ ERP กับ MRP ต่างกันอย่างไร และมีประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจอย่างไรบ้าง
ERP และ MRP โซลูชันที่องค์กรควรรู้จัก
ระบบ ERP และ MRP ถือได้ว่าเป็นโซลูชันพื้นฐานที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต แต่เชื่อว่าหลายองค์กรก็อาจยังคงสับสนว่า ทั้ง 2 ระบบนี้แตกต่างกันอย่างไร
ระบบ ERP คืออะไร?
ระบบ ERP หรือ Enterprise Resource Planning คือ ระบบสำหรับบริหารจัดการภาพรวมในองค์กร ที่สามารถใช้จัดการได้อย่างครอบคลุม ตั้งแต่การเงิน การบัญชี การจัดการทรัพยากรบุคคล ตลอดจนการบริหารจัดการลูกค้า และการจัดการวัตถุดิบ
โดยปกติแล้วระบบ ERP จะมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือ ระบบ ERP แบบ On-Cloud หรือ ระบบที่ติดตั้งอยู่บน Cloud Server สามารถใช้งานได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านแอปพลิเคชันบนคอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟน และ ระบบ ERP แบบ On-Premise ซึ่งเป็นการติดตั้งไว้บน Hardware ขององค์กร
ประโยชน์ของระบบ ERP
1.สามารถจัดเก็บข้อมูลการทำงานของแต่ละแผนกได้อย่างครบถ้วน ตั้งแต่ฝ่ายบัญชีจนถึงฝ่ายผลิต
2.ช่วยให้การทำงานระหว่างแผนกเป็นเรื่องง่าย จบปัญหาการใช้ซอฟต์แวร์ต่างระบบ จนทำให้งานสะดุดและล่าช้า
3.ลดข้อผิดพลาดในการนำเข้าและส่งออกข้อมูล
4.ลดขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อนให้สะดวก รวดเร็ว และง่ายต่อการตรวจสอบมากขึ้น
5.ลดค่าใช้จ่ายที่บานปลายจากการใช้งานและซ่อมบำรุงซอฟต์แวร์จำนวนมาก
ระบบ MRP คืออะไร?
ระบบ MRP หรือ Material Requirements Planning คือ ระบบสำหรับบริหารจัดการวัตถุดิบและวางแผนการผลิต ใช้เพื่อควบคุมการสั่งซื้อ การส่งมอบสินค้า การจัดการสินค้าคงคลัง รวมถึงจำนวนสินค้าที่ใช้ไปในการผลิต เพื่อให้มองเห็นภาพรวมและวางแผนสั่งซื้อวัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประโยชน์ของระบบ MRP
1.ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคลังสินค้าที่ยุ่งยากและซับซ้อน
2.ช่วยอำนวยความสะดวกในการเรียกดูข้อมูลจำนวนมหาศาล ทำให้การเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ เป็นเรื่องง่าย
3.ช่วยลดข้อผิดพลาดในขั้นตอนการบริหารจัดการวัตถุดิบ และขั้นตอนการผลิต ทำให้สามารถใช้วัตถุดิบได้อย่างแม่นยำและคุ้มค่ายิ่งขึ้น
4.ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการคลังสินค้า
องค์กรควรเลือกใช้ระบบใดให้ตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจ?
จากความแตกต่างระหว่าง ERP และ MRP ที่สรุปไว้ด้านบนนี้ จะเห็นได้ว่าความจริงแล้ว ทั้ง 2 ระบบมีจุดประสงค์การใช้งานที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ดังนั้นองค์กรจึงสามารถเลือกใช้งานได้ตามความต้องการ เช่น หากเป็นอุตสาหกรรมการผลิต ที่มีขั้นตอนการผลิต หรือจัดเตรียมวัตถุดิบที่มีความซับซ้อน หรือมีระบบการผลิตขนาดใหญ่ สามารถเลือกใช้ระบบ MRP เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กระบวนการผลิตได้แบบบูรณาการ เพื่อลดความผิดพลาดในการจัดการสต็อก และการผลิตที่ผิดพลาด ที่อาจทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายบานปลาย และทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตามเป้า
ในส่วนของระบบ ERP จะเป็นโซลูชันที่มีความยืดหยุ่น สามารถใช้งานได้ตั้งแต่ในองค์กรขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ สามารถปรับแต่งให้ตรงกับความต้องการของธุรกิจในแต่ละประเภทได้ ทั้งยังสามารถใช้งานได้อย่างครอบคลุมในทุกฝ่าย ตั้งแต่ฝ่ายบัญชีจนถึงฝ่ายขาย จึงเป็นโซลูชันที่ใช้งานได้ครอบคลุมในธุรกิจแทบทุกประเภทเลยทีเดียว
BY : Patch
ที่มา : onestopitservices