การบริหารงานขนส่งด้วยระบบ TMS โดยใช้ข้อมูลแผนที่และ GIS
การบริหารงานขนส่งด้วยระบบ TMS โดยใช้ข้อมูลแผนที่และ GIS
ข้อมูลแผนที่และ GIS สำหรับการบริหารจัดการการขนส่งและโลจิสติกส์
ข้อมูลแผนที่ หรือ ข้อมูลเชิงพื้นที่ (Map Content) เป็นข้อมูลแผนที่ที่มีพิกัดตำแหน่งที่ตั้ง (Location) และเชื่อมโยงกับฐานข้อมูล (Content) อื่นเพื่อใช้ในการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ เช่น ความกว้างถนน การจำกัดความเร็วในการขับขี่ของถนน ชื่อสถานที่ ประเภทสถานที่ ฯลฯ โดยหัวใจสำคัญของการบริหารจัดการการขนส่งและโลจิสติกส์ คือ ข้อมูลแผนที่ที่แม่นยำและเข้าถึงได้แบบเรียลไทม์ ไม่เพียงแต่การตรวจสอบตำแหน่งและติดตามความคืบหน้าในการจัดส่งเท่านั้น แต่สามารถใช้ข้อมูลแผนที่ในการวิเคราะห์เพื่อการบริหารวางแผนและปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน เช่น การจัดการซัพพลายเชน การเลือกคลังสินค้า การวางแผนเส้นทางการขนส่ง การติดตามและบริหารการใช้สินทรัพย์ (เช่น อุปกรณ์ ยานพาหนะ และรถพ่วง)
ตัวอย่าง การบริหารงานขนส่งด้วยระบบ TMS โดยใช้ข้อมูลแผนที่และ GIS
Supply Chain Management การจัดการซัพพลายเชน
สามารถใช้ข้อมูลที่ตั้งโรงงาน คลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า ร้านค้าปลีก ฯลฯ ในระบบ TMS เพื่อวิเคราะห์และจัดการงานขนส่งให้มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำที่สุด เช่น การกระจายและขนส่งสินค้าจากโรงงานไปยังคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า การกำหนดขอบเขตพื้นที่การให้บริการของคลังสินค้าแต่ละแห่ง การจัดส่งสินค้าไปยังผู้บริโภคขั้นสุดท้าย หรือแม้แต่การเลือกผู้ให้บริการขนส่งสินค้าและการจัดสรรยานพาหนะที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขของสินค้า เช่น น้ำหนักการบรรทุก ขนาดของสินค้า ประเภทการใช้รถ (เช่น รถห้องเย็น) ที่เรียกว่า Resource Optimization
Fleet Management การจัดการกลุ่มรถขนส่ง
คือ การจัดการกิจกรรมการทำงานในระดับปฏิบัติการ เพื่อให้การบริหารงานขนส่งและกลุ่มรถเป็นไปอย่างราบรื่น การใช้ข้อมูลแผนที่และระบบ TMS ทำให้สามารถติดตามการปฏิบัติงานในแต่ละวันได้แบบเรียลไทม์ (Real-time Monitoring) เช่น ตรวจสอบตำแหน่งรถและสถานะการดำเนินงานจัดส่ง ติดตามความปลอดภัยในการขับรถ เก็บประวัติการใช้งานเครื่องยนต์ ฯลฯ และมีข้อมูลสำหรับการประเมินประสิทธิภาพการขนส่งเพื่อนำไปปรับปรุงการทำงาน เช่น ปรับเส้นทางการขนส่ง ควบคุมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง กำหนด KPI พนักงานขับรถ วางแผนบำรุงรักษายานพาหนะ เป็นต้น
Route Planning & Vehicle Routing Problem (VRP) การวางแผนเส้นทางขนส่งและการกำหนดเส้นทางของยานพาหนะ
สามารถใช้ข้อมูลแผนที่ในการวิเคราะห์และจัดเส้นทางการขนส่งสินค้าที่เหมาะสมจากข้อมูลต่าง ๆ เช่น ระยะทาง ความกว้างของถนนที่รถบรรทุกวิ่งได้ ค่าจำกัดความเร็วของถนน ความลาดชันของถนน การจราจร การใช้น้ำมัน ฯลฯ โดยนำมาคำนวณตามการเลือกพารามิเตอร์ เช่น ระยะทางสั้นที่สุด ใช้เวลาน้อยที่สุด หรือ มีต้นทุนค่าขนส่งต่ำที่สุด รวมถึงการจัดการกับปัญหาความซับซ้อน เช่น จัดเส้นทางการขนส่งโดยเลือกจำนวนยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งให้เหมาะสมกับปริมาณสินค้า แล้วเสนอแผนการวิ่งรถทั้งหมด พร้อมเส้นทางและลำดับจุดส่งก่อนหลัง เรียกว่า Vehicle Routing Problem (VRP) รวมถึงในอนาคต หากมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าก็สามารถกำหนดเส้นทางการขนส่งตามถนนที่มีสถานีชาร์จไฟฟ้าได้ด้วย
Asset Management & Asset Tracking การจัดการและติดตามสินทรัพย์
การจัดการสินทรัพย์ คือ กระบวนการดูแลสินทรัพย์ของบริษัท โดยงานขนส่งมีสินทรัพย์ที่เคลื่อนย้ายได้ เช่น รถ หัวรถ รถพ่วง ตู้คอนเทนเนอร์ อุปกรณ์ ฯลฯ จำเป็นจะต้องบันทึกการใช้งานให้เป็นระบบและตรวจเช็คได้ว่าสินทรัพย์อยู่ที่ไหน ใช้งานอะไรมากน้อยแค่ไหน ถึงเวลาต้องบำรุงรักษาหรือซ่อมแซมหรือไม่ เพื่อให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย คุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่สูญหาย โดยสามารถติดอุปกรณ์จีพีเอสสำหรับการระบุตำแหน่งที่แม่นยำเพื่อใช้ในการติดตาม และจัดเก็บข้อมูลสินทรัพย์ในระบบ TMS เพื่อให้สามารถบันทึกข้อมูลการใช้งานสินทรัพย์และบริหารการใช้สินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพ
BY: FAH
ที่มา: nostralogistics