แชร์

ท่าบกด่านสากลลาว-จีน เปิดเส้นทางส่งออกไทย

อัพเดทล่าสุด: 23 ธ.ค. 2024
104 ผู้เข้าชม

ประตูการค้าอาเซียนสายใหม่ ท่าบกท่านาแล้งนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ที่ยกระดับเป็นด่านการค้าสากลมีขีดความสามารถทั้งคุณภาพบริการ และเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
พลิกโฉมเปลี่ยนจากประเทศไม่มีทางออกสู่ทะเล (Land lock) เป็นประเทศเป็นข้อต่อเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งของภูมิภาค (Land link) ขับเคลื่อนโลจิสติกส์ที่เป็นส่วนหนึ่งของทางรถไฟคุนหมิง-สิงคโปร์ เริ่มจากการเชื่อมโยงสถานีรถไฟท่าบกท่านาแล้งโครงการรถไฟไทย-ลาว และมีสถานีปลายทางขนส่งสินค้าโครงการรถไฟลาว-จีน

แล้วเส้นทางสายนี้ยังเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าไปยังประเทศอื่นทั่วโลกผ่านโครงการรถไฟจีน-ยุโรป ดังนั้นสินค้าที่ผ่านแดนจากท่าบกแห่งนี้จะส่งไปยังปลายทางทั่วโลกได้ อันเป็นโอกาสทางเลือกหนึ่งของประเทศไทย ในการส่งออกสินค้าโดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตร อาหารแปรรูป ปศุสัตว์แปรรูป และสินค้าอื่นๆอีกมากมาย
ทำให้เมื่อไม่นานนี้ สกู๊ปหน้า 1 ได้ร่วมเดินทางกับ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ ไทย เยี่ยมชมโครงการท่าบกท่านาแล้ง สปป.ลาว และฟังคำบรรยายจาก สาคอน พิลางาม ผอ.ใหญ่บริษัทท่าบกท่านาแล้ง เล่าว่า ด้วย สปป.ลาวไม่มีพื้นที่ส่วนใดติดทะเลสมัยก่อนการส่งสินค้าต้องส่งไปยังท่าเรือประเทศเพื่อนบ้าน

กระทั่งมีการพัฒนา โครงการท่าบกท่านาแล้ง และเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ กลายเป็นท่าบกการค้าสากลยกระดับจาก ประเทศไม่มีทางออกสู่ทะเลที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค ที่เป็นสะพานเชื่อมเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคสำหรับการอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าอย่างครบวงจร

กระทั่งกลายเป็น ศูนย์กลางโลจิสติกส์ของอาเซียน ทั้งยังเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า ด่านสากลสำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เขตอุตสาหกรรมผลิตสินค้าส่งออก ซึ่งได้รับมาตรฐานสากลจากองค์การการค้าโลกด้วยระบบที่ทันสมัยเป็นศูนย์กลาง Connector ทางเศรษฐกิจทั้งในอาเซียน และกระจายไปทั่วโลกได้
ดังนั้น ท่าบกท่านาแล้ง สปป.ลาวจะทำหน้าที่สำหรับเป็นการค้าระหว่างประเทศ และสถานีขนส่งทางรถไฟชายแดนมีต้นทางโครงข่ายรถไฟลาว-ไทยข้ามผ่านแม่น้ำโขงสะพานมิตรภาพไปสถานีรถไฟหนองคาย แล้วยังเป็นสถานีสุดท้ายของทางรถไฟจีน-ลาว อันมีการบริหารจัดการระบบภาษี พิธีศุลกากรสากลในเขตโลจิสติกส์ครบวงจร
สิ่งนี้เป็นความภาคภูมิใจของ สปป.ลาว มีโอกาสได้เป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์อันเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญของภูมิภาคบนพื้นที่ขนาด 2 พันกว่าไร่ เป็นการลงทุนของบริษัทเอกชนลาว 100% ได้รับสนับสนุนการเงินจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศภายใต้บริหาร บ.เวียงจันทน์โลจิสติกส์พาร์คจำกัด (Vientiane Logistics Park : VLP)

ตอกย้ำว่า ท่าบกเป็นประตูด่านหน้าสู่อาเซียน ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางรถไฟสายคุนหมิง-สิงคโปร์ และเป็นศูนย์รวมการขนถ่ายสินค้าที่ซื้อขายกันระหว่างจีนกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีศักยภาพสามารถรองรับรถบรรทุกคอนเทนเนอร์ได้สูงสุด 3,000 คัน/วัน ซึ่งปัจจุบันมีรถบรรทุกเข้ามาเฉลี่ย 1,000 คัน/วัน
แล้วในปี 2023 มีการขนส่งสินค้าไปแล้วราว 3 ล้านตัน ส่วนโบกี้รถไฟก็ใช้เวลาในการตรวจสอบเพียง 2 นาที ต่อ 1 โบกี้ เพราะใช้วิธีการสแกนQR code ทำให้การตรวจสอบมีความรวดเร็วจนผู้ประกอบการไทยแฮปปี้กับท่าบก เพราะช่วยลดต้นทุนการขนส่งจากไทยไปยังจีนได้อย่างมากใช้เวลาในการเดินทางไม่เกิน 15 ชั่วโมง
ทั้งช่วยลดต้นทุนการข้ามแดน 40% และค่าไฟในการแช่อาหารสดที่นี่ก็ถูกกว่าไทย 50% ถ้าเป็นไปได้อยากให้ไทยเปิดด่านชายแดนตอนกลางคืน เพื่อเพิ่มศักยภาพของท่าบก และเป็นโอกาสการลดต้นทุนขนส่งของฝั่งไทย

ไม่เท่านั้นท่าบกกำลังมีแผนพัฒนาการขนส่งสินค้าใน 2050 ตั้งเป้าไว้ 19 ล้านตัน/ปี ด้วยการส่งสินค้าลาว-ไทยนำเข้าทางรถไฟ 5.9 ล้านตัน การส่งออกทางรถไฟ 4.6 แสนตัน การนำเข้าทางถนน 2.9 ล้านตัน การส่งออกทางถนน 4.1 แสนตัน ส่วนการส่งสินค้าลาว-จีนนำเข้าทางรถไฟ 9 แสนตัน การส่งออกทางรถไฟ 1.7 แสนตัน
ส่วนการขนส่งสินค้าลาว-เวียดนามนำเข้าทางรถไฟ 1.3 ล้านตัน ส่งออกทางรถไฟ 2.2 พันตัน ขณะที่การส่งสินค้าจากจีนผ่านท่าบกไปไทยด้วยระบบรางอยู่ที่ 4.6 ล้านตัน และการส่งออกด้วยระบบราง 3 ล้านตัน
ก่อนหน้านี้ก็เดินทางไปเจรจาการค้ากับฝรั่งเศสอันมีระบบรางเชื่อมต่อเยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ เพราะที่ผ่านมา สปป.ลาว มีการส่งสินค้าไปยังฝรั่งเศส และประเทศในยุโรปด้วยรถไฟผ่านเข้าประเทศจีนมานานแล้ว
ทำให้การเดินทางไปเจรจาครั้งนี้ สปป.ลาว มีแผนขยายการขนส่งสินค้าเชื่อมต่ออาเซียนกับยุโรปด้วยทางรถไฟต้นทางจากท่าบกผ่านซีอาน หลานโจว อุรุมชี ประเทศจีน ผ่านอัสตานา เปโตรปาฟลอฟสค์ ประเทศคาซัคสถาน เข้ามอสโก ประเทศเบลารุส โปแลนด์ สิ้นสุดที่เยอรมนี


ธุรกิจโฆษณา
ส่วนอาเซียนเริ่มต้นจากประเทศสิงค์โปร์เข้าปีนัง ประเทศมาเลเซีย ผ่านประเทศไทยมายังท่าบก สปป.ลาว เชื่อมต่อคุนหมิง มุ่งหน้าไปฉงชิ่ง ซีอาน-ยุโรป และอีกด้านปลายทางไปยังเซี่ยงไฮ้
เช่นเดียวกับ เวียงคอน สิทธิไชย รองประธานเวียงจันทน์โลจิสติกส์พาร์ค กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันระบบขนส่งระหว่างไทย-ลาวผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.การขนส่งผู้โดยสาร ในช่วงเช้าจะมีการขนส่งสาธารณะและรถส่วนบุคคลปริมาณ 400-500 คัน 2.การขนส่งสินค้ามีอยู่อย่างต่ำ 600 คัน/วัน
ส่วนที่ 3.การขนส่งทางรถไฟที่จะมีการวิ่งรถอยู่ 2 เที่ยว แล้วแต่ละเที่ยวจะมีการปิดถนนบนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 30 นาที/เที่ยว กลายเป็นว่า ระบบการขนส่งมีความแออัด จนเกิดปัญหาด้านการจราจรเป็นคอขวดบริเวณสะพานมิตรภาพฯ ทำให้การขนส่งสินค้ามายังท่าบกไม่เต็มศักยภาพ
เหตุนี้ต้องการให้หน่วยงานรัฐไทยเปิดด่านที่ จ.หนองคายในช่วงเวลากลางคืน โดยในช่วงกลางวันเช้าและเย็น เป็นการขนส่งสาธารณะ รถส่วนบุคคล ในส่วนช่วง 22.00-05.00 น. เป็นการขนส่งสินค้าเพื่อลดความแออัดของด่านตรวจ เพื่อให้สามารถเพิ่มศักยภาพในการขนส่งสินค้าทางรถไฟเพิ่มขึ้น 400-500 ตู้คอนเทนเนอร์

ข้อเสนอนี้มีการบูรณาการร่วมกันแล้ว ระหว่างภาครัฐและเอกชน ด้วยการปรึกษาหารือกับศุลกากรหนองคาย การรถไฟแห่งประเทศไทย แต่ยังต้องรอการตัดสินใจบนพื้นฐานความมั่นคงของไทย เวียงคอนว่า
จริงๆแล้ว โครงสร้างพื้นฐานในอาเซียน ปัจจุบันเชื่อมต่อกันเกือบหมดอย่างเช่นเส้นทางรถไฟระหว่างมาเลเซีย-สิงคโปร์ก็เชื่อมต่อกันสามารถเข้ามาในไทย และผ่านมายัง สปป.ลาวไปยังจีนได้ง่ายขึ้น ส่วนภาคเอกชนก็มีความร่วมมือเชื่อมต่อระบบข้อมูลการขนส่งจากต้นทางประเทศสิงคโปร์ส่งมายังท่าบกสปป.ลาวแล้ว
แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะยังขาดการสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการด้านกระบวนการวิธียื่นเอกสารผ่านออนไลน์ ทำให้การส่งสินค้าเกิดความล่าช้าอยู่บ้าง แล้วในปี 2567 มีแผนขยายปรับปรุงลานกองตู้สินค้าขนาดใหญ่เพิ่มอีก 200 กว่าไร่ เพื่อรองรับตู้คอนเทนเนอร์ที่จะเข้ามาในอนาคต
เพราะเราตั้งเป้าเป็นท่าบกของอาเซียนอันเป็นจุดบริการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะสินค้าไทย เช่น สินค้าการเกษตร การประมง หรืออาหารทะเลสดส่งมาจากแหลมฉบังของไทยผ่านลาวส่งต่อไปยังคุนหมิง ประเทศจีนใช้เวลาประมาณ 20 ชม.อันจะช่วยให้สินค้าสดใหม่เพิ่มมูลค่าสินค้าที่จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการไทยมากขึ้น

โดยเฉพาะอาหารแช่แข็งไทยจะสามารถลดต้นทุนลงได้ ด้วยค่าไฟฟ้าที่ สปป.ลาวถูกกว่าไทย 50% นั้นก็จะช่วยลดต้นทุนค่าไฟในการแช่แข็งได้อีก 50% เมื่อต้นทุนลดย่อมส่งผลให้กำไรเพิ่มตาม ทั้งยังเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ SMEs ในการเพิ่มการแข่งขันบนเส้นทางที่ท้าทายนี้นำไปสู่ตลาดจีนโดยไม่ต้องผ่านนายหน้า
สุดท้ายนี้ขอสนับสนุน แลนด์บริดจ์ของไทย จะทำให้การค้าสะดวกมากขึ้น เพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อสู่อาเซียนในการเพิ่มขีดความสามารถการขนส่งสินค้า และพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะด้วย ท่าบก แม้เป็นจุดเชื่อมต่อประตูสู่อาเซียนก็จริงแต่ว่า ประเทศไทย ถือเป็นจุดศูนย์กลางกระจายขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ในภูมิภาคนี้
ทั้งหมดนี้จะเป็นความร่วมมือระหว่างไทยลาวเพื่อสร้างจุดแข็งร่วมกันที่จะเป็นโอกาสใหม่ในการส่งออกสินค้าของไทยเพิ่มขึ้นผ่านช่องทาง ท่าบกท่านาแล้ง สู่สถานีปลายทางตลาดจีนได้ง่ายขึ้น.

BY : Tonkla

ที่มา : www.thairath.co.th


บทความที่เกี่ยวข้อง
ขั้นตอนการนำเข้าสินค้า (IMPORT)
ขั้นตอนการนำเข้าสินค้า IMPORT · 1. ใบขนสินค้าขาเข้า (Import Entry Declaration) · 2. ใบตราส่งสินค้า (B/L) · 3. บัญชีราคาสินค้า (Invoice) · 4. บัญชีรายละเอียดบรรจุหีบห่อ (Packing List)
22 ม.ค. 2025
โครงการ One Belt One Road เส้นทางสายไหมใหม่สู่การเชื่อมโยงโลก
โครงการ One Belt One Road (OBOR) หรือที่รู้จักกันในชื่อ เส้นทางสายไหมใหม่ เป็นโครงการริเริ่มโดยประเทศจีน มีเป้าหมายเพื่อสร้างเครือข่ายการค้าและโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงเอเชีย ยุโรป และแอฟริกาเข้าด้วยกัน
23 ธ.ค. 2024
เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางเรือ
การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมนี้
6 ธ.ค. 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ