กลยุทธ์ทางธุรกิจ มีองค์ประกอบอะไรบ้าง คนเริ่มต้นลงทุนต้องรู้
กลยุทธ์ทางการตลาด หัวใจสำคัญของการเริ่มต้นธุรกิจ
กลยุทธ์ทางธุรกิจหมายถึง กระบวนการทางธุรกิจที่สร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ และเป้าหมายทางธุรกิจขององค์กร ช่วยให้องค์กรสามารถวางแผน จัดการทรัพยากร กำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจ เพื่อเลือกตลาดเป้าหมายที่เหมาะสม สร้างความได้เปรียบในตลาด ทั้งยังมีช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน อันมีส่วนสำคัญต่อการประสบความสำเร็จในธุรกิจ ดังนั้นการพัฒนากลยุทธ์เพิ่มยอดขายให้เหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค จึงเป็นวัตถุประสงค์หลักขององค์กรเพื่อสร้างรายได้ที่เติบโต และความมั่นคงในระยะยาว
กลยุทธ์ทางธุรกิจมีกี่แบบ ให้ผลลัพธ์อย่างไร
กลยุทธ์ทางธุรกิจมีหลายแบบ และมีการจัดลำดับที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กรและสถานการณ์ที่พบเจอ สำหรับส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย มีดังนี้
1. กลยุทธ์การเติบโต
กลยุทธ์นี้เน้นการเพิ่มขยายธุรกิจขององค์กรให้โตอย่างรวดเร็ว โดยการเข้าสู่ตลาดใหม่ การขยายตัวทางภูมิภาค การเพิ่มผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ตลอดจนการเพิ่มยอดขายในตลาดที่มีอยู่ เพื่อเพิ่มรายได้และส่วนแบ่งตลาดขององค์กร
2. กลยุทธ์การเพิ่มประสิทธิภาพ
เน้นพัฒนากระบวนการธุรกิจ และการใช้ทรัพยากรองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการลดต้นทุนการผลิต การปรับปรุงกระบวนการทำงาน การใช้เทคโนโลยีในการปรับปรุง หรือการลดระยะเวลาในการส่งมอบสินค้าหรือบริการ
3. กลยุทธ์การแข่งขันราคา
เน้นการเป็นผู้นำตลาดในเรื่องราคา โดยลดราคาสินค้าหรือบริการให้ต่ำกว่าคู่แข่งเจ้าอื่น สามารถทำได้ด้วยการลดต้นทุน เพื่อให้ลูกค้าเกิดความสนใจในผลิตภัณฑ์หรือบริการ
4. กลยุทธ์สร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์หรือบริการ
เป็นการเน้นการสร้างผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่แตกต่างจากคู่แข่งในด้านคุณลักษณะเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ สามารถทำได้ผ่านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ผ่านการสร้างแบรนด์ให้มีเอกลักษณ์ที่แตกต่าง หรือการให้บริการที่มีความโดดเด่น แตกต่างจากธุรกิจอื่น
5. กลยุทธ์การเข้าสู่ตลาดใหม่
กลยุทธ์นี้เน้นการขยายตลาดขององค์กร โดยเข้าสู่ตลาดใหม่ที่ยังไม่มีคู่แข่งหรือมีการแข่งขันน้อย สามารถทำได้ด้วยการศึกษาตลาดที่เป็นเป้าหมาย การปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์หรือบริการให้เหมาะสมกับตลาดใหม่ ตลอดจนการการสร้างความร่วมมือกับคู่ค้าในตลาดใหม่
แนวคิดทางธุรกิจที่ดี มีองค์ประกอบเรื่องใดบ้าง
การเติบโตทางธุรกิจต้องอาศัยเทคโนโลยี และการทำงานเป็นทีม
กลยุทธ์ทางธุรกิจมีองค์ประกอบหลักหลายประการ ที่นำธุรกิจไปสู่ความสำเร็จ โดยองค์ประกอบเหล่านี้อาจแตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบทและอุตสาหกรรมของธุรกิจนั้น ๆ และเพื่อให้กลยุทธ์ทางธุรกิจประสบผลสำเร็จตามที่คาดหวัง จำเป็นต้องมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
1. วิสัยทัศน์ เป้าหมาย และวัตถุประสงค์
การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องมีเป้าหมายเฉพาะเจาะจงและวัดผลได้ ซึ่งถูกใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานขององค์กร เพื่อบรรลุเป้าหมายเหล่านั้น
2. การวิเคราะห์ตลาด
การทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด รวมถึงความต้องการของลูกค้า แนวโน้มของอุตสาหกรรม การแข่งขัน และโอกาสที่อาจเกิดขึ้น เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ
3. สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน
องค์กรต้องระบุและใช้ประโยชน์จากจุดแข็ง ความสามารถ และทรัพยากรที่เป็นเอกลักษณ์ เพื่อให้ได้เปรียบในการแข่งขันเหนือคู่แข่ง สามารถทำได้ผ่านปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความเป็นผู้นำด้านต้นทุน ความแตกต่างด้านนวัตกรรม หรือการกำหนดเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม
4. กำหนดตลาดเป้าหมาย
การกำหนดตลาดเป้าหมายและการแบ่งกลุ่มลูกค้า ช่วยปรับแต่งความพยายามทางการตลาดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ธุรกิจสามารถมั่นใจได้ว่าได้ส่งมอบคุณค่าผลิตภัณฑ์ของธุรกิจ ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด
5. การนำเสนอคุณค่า
การสื่อสารให้เห็นถึงคุณค่าและประโยชน์เฉพาะ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการให้กับลูกค้า เป็นการตอกย้ำว่าเหตุใดลูกค้าควรเลือกใช้สินค้าและบริการของธุรกิจมากกว่าคู่แข่ง
6. การวางแผนดำเนินงาน
การพัฒนากลยุทธ์สำหรับการดำเนินงาน การผลิต การจัดการห่วงโซ่อุปทาน และการจัดสรรทรัพยากร เป็นเคล็ดลับสำคัญที่ช่วยให้แน่ใจว่าการดำเนินการตามกลยุทธ์ทางธุรกิจ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
7. การประเมินความเสี่ยง
การระบุความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และความไม่แน่นอนที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ช่วยให้สามารถจัดการความเสี่ยงและวางแผนฉุกเฉินได้
8. การวางแผนทางการเงิน
การจัดทำงบประมาณ และการตรวจสอบประสิทธิภาพทางการเงิน เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืนและการจัดสรรทรัพยากร
9. การนำไปใช้และการดำเนินการ
การแปลงกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ จำเป็นต้องมีการสื่อสาร การประสานงาน และการติดตามความคืบหน้าที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อให้ธุรกิจสามารถกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายภายในองค์กร เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามเงื่อนเวลาที่กำหนด
10. การประเมินและการปรับตัว
การประเมินประสิทธิผลของกลยุทธ์อย่างสม่ำเสมอ การตรวจสอบตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพ และการเปิดรับข้อเสนอแนะ ช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับเปลี่ยนและปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงได้
BY : Tonkla
ที่มา : ktc.co.th