แชร์

Fishbone Diagram คือ เรื่องควรรู้เกี่ยวกับ แผนภูมิก้างปลา เพื่อหาสาเหตุและผลกระทบ

อัพเดทล่าสุด: 2 ธ.ค. 2024
743 ผู้เข้าชม

Fishbone Diagram คือ
Fishbone Diagram คือ เครื่องมือในการค้นหาสาเหตุและผลกระทบที่เกิดขึ้น ช่วยให้คุณสามารถหาสาเหตุของข้อบกพร่องและความล้มเหลวในกระบวนการต่างๆ ในภาษาไทยนิยมเรียกสองแบบ คือ แผนภูมิก้างปลา และ ผังก้างปลา

แผนภูมิก้างปลาเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริงของปัญหา เป็นกระบวนการที่มีโครงสร้างช่วยในการช่วยระบุปัจจัยพื้นฐานหรือสาเหตุของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ การทำความเข้าใจถึงปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อต่อการทำงานที่เป็นสาเหตุของความล้มเหลวของระบบสามารถช่วยพัฒนาการดำเนินการที่สนับสนุนการแก้ไขได้

ผังก้างปลา ตามชื่อเป็นแผนภาพที่เลียนแบบโครงกระดูกปลา ปัญหาพื้นฐานถูกวางไว้ในหัวของปลา (หันหน้าไปทางขวา) และสาเหตุจะขยายไปทางซ้ายเช่นเดียวกับโครงกระดูก ก้างปลาแต่ละก้างแสดงถึงสาเหตุสำคัญ ในขณะที่ก้างย่อยแสดงถึงสาเหตุของแต่ละสาเหตุสำคัญ โครงสร้างของผังก้างปลาสามารถแตกแขนงออกไปได้หลายระดับตามความจำเป็นเพื่อหาสาเหตุของปัญหา

แผนภูมิก้างปลาเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำหรับค้นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา แต่ยังมีเครื่องมืออื่นๆ อีกเช่น

Pareto Chart
5 Whys
Failure Mode and Effects Analysis (FMEA)
Casual Factor Tree Analysis
จุดกำเนินแผนภูมิก้างปลา Fishbone Diagram
แนวคิดของ Fishbone Diagram หรือ ผังก้างปลา กล่าวกันว่ามีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2463 แต่ผู้ที่นำมาใช้และทำให้ผังก้างปลาแพร่หลายมาจนถึงทุกวันนี้คือคุณคาโอรุ อิชิกาวะ  (Kaoru Ishikawa) ที่นำผังก้างปลามาใช้ในการจัดการปัญหาและเพิ่มคุณภาพการผลิตสำหรับอู่ต่อเรือคาวาซากิในช่วงปี พ.ศ.2503 พ.ศ.2511



Kaoru Ishikawa รูปภาพจาก www.pharmaceuticalonline.com

คุณคาโอรุ อิชิกาวะ เป็นวิศวกรที่ทำงานที่มหาวิทยาลัยโตเกียว อยู่ในสหภาพนักวิทยาศาสตร์และวิศวะกรแห่งประเทศญี่ปุ่น แนวคิดของ แผนภูมิก้างปลา ที่คุณอิชิกาวะ อธิบายในยุคนั้น แสดงให้เห็นถึงสาเหตุที่แตกต่างกันระหว่างสิ่งที่เกิดก่อนหน้าของปัญหาและผลกระทบที่ระบุไว้

ในยุคนั้นแผนภูมิก้างปลาได้รับความนิยมถึงขนาดที่บริษัท Mazda Motors ใช้ในการพัฒนารถสปอร์ต Mazda MX5

แผนภูมิก้างปลาบางครั้งก็ถูกเรียกว่า แผนภูมิอิชิกาวะ (Ishikawa Diagram/Fishikawa) ตามชื่อผู้ส่งเสริมให้แพร่หลาย

เหตุผลหลัก 4 ประการในการใช้ผังก้างปลา
การแสดงความสัมพันธ์ : ผังก้างปลาจะรวบรวมความสัมพันธ์ระหว่างสาเหตุและผลกระทบที่เป็นไปได้โดยแสดงในลักษณะของแผนภาพที่เข้าใจได้ง่าย
แสดงสาเหตุทั้งหมดพร้อมกัน : สาเหตุหรือห่วงโซ่สาเหตุใดๆ ที่แสดงอยู่บนผังก้างปลาอาจทำให้เห็นถึงสาเหตุที่เป็นไปได้ทั้งหมดและง่ายต่อการนำเสนอปัญหาต่อผู้มีส่วนร่วม
อำนวนความสะดวกในการระดมความคิด : ผังก้างปลาเป็นวิธีการที่ยอดเยี่ยมด้วยความที่โครงสร้างเอื้อให้ทุกคนในทีมช่วยกันระดมความคิด การดูผังก้างปลาอาจกระตุ้นให้ทีมของคุณค้นหาวิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้
ช่วยรักษาโฟกัส : ผังก้างปลาช่วยให้ทีมของคุณมีสมาธิในขณะที่คุณหารือเกี่ยวกับข้อมูลที่คุณต้องรวบรวม ช่วยให้มั่นใจได้ว่าทีมของคุณรวบรวมข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประโยชน์สูงสุด และไม่มีการเสียเวลาไปกับการไล่ตามปัญหาที่ไม่มีอยู่จริง
เมื่อไหร่ควรใช้แผนภูมิก้างปลา
เมื่อต้องการค้นหาสาเหตุของปัญหา ซึ่งปัญหาหนึ่งอาจมีปัจจัยหรือสาเหตุที่เกี่ยวข้องหลายปัจจัย
เมื่อต้องการระดมความคิด เพื่อให้สมาชิกของทีมร่วมกันหาสาเหตุของปัญหาที่ระบุไว้ที่หัวของปลา
ข้อดีและข้อจำกัดของแผนภูมิก้างปลา
เครื่องมือทุกอย่างล้วนมีข้อดีและข้อจำกัดในตัวเองเสมอ การจะใช้งานได้ดีขึ้นอยู่กับว่าคุณเหมาะกับเครื่องมือนั้นๆ ในการแก้ปัญหาหรือไม่ และนี้คือ ข้อดีและข้อจำกัดของผังก้างปลา

ข้อดี
Fishbone Diagram หรือ แผนภูมิก้างปลา นั้นค่อนข้างใช้งานง่าย เช่นเดียวกับ 5Whys และ Brainstorming เทคนิคนี้สามารถเรียนรู้และนำไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว
เนื่องจากการใช้ ภาพ เป็นองค์ประกอบทำให้คนในทีมเห็นสิ่งที่เป็นปัญหาหลัก (ส่วนหัวปลา) และสาเหตุหลักที่มีผลต่อระสิทธิภาพการทำงาน (ส่วนกระดูดสันหลังและก้าง) แผนภาพเหล่านี้ช่วยให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของเหตุและผลที่ผู้วิจัยปัญหาต้องการจะสื่อ
ประวัติที่ยาวนานกว่า 50 ปีช่วยให้มั่นใจได้ว่าแผนภูมิก้างปลา เป็นเทคนิคดั่งเดิมที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้แก้ปัญหาเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหา
ข้อจำกัด
กระบวนการระดมความคิดสามารถก่อให้เกิดสาเหตุที่เป็นไปได้ที่ไม่เกี่ยวข้องพร้อมกับสาเหตุที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก อาจทำให้เกิดความสับสนและเสียเวลา
การสร้างผังก้างปลา การวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริงของเหตุและผลต้องใช้มุมมองจากคนที่มีประสบการณ์ถึงจะสามารถสรุปได้อย่างแม่นยำ
หลายครั้งการระดมความเห็นจากทีมงานหลายคน มักจบด้วยการใช้การ โหวต โดยทีมงานเพื่อระบุปัญหาที่แท้จริง แต่ในความเป็นจริงแล้วการระดมความคิดของทีมงานเป็นเพียงความคิดเห็น ไม่ได้พิสูจน์ว่าสาเหตุต่างๆ ที่เลือกทำให้เกิดปัญหาจริงๆ
ผังก้างปลา โดยตัวมันเองไม่ได้มีหน้าที่ในการแก้ปัญหา จึงจำเป็นต้องใช่คู่กับเครื่องมืออื่นประกอบ
หลักการใช้งาน แผนภูมิก้างปลา
การใช้งานแผนภูมิก้างปลาเพื่อวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริงของปัญหา มีจุดมุ่งหมายเพื่อหาถึงความสัมพันธ์ที่สำคัญระหว่างตัวแปรต่างๆ เป็นการใช้เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ช่วยแก้ปัญหาเดิมที่เคยเจอ นอกจากนี้ยังใช้ในการป้องกันข้อบกพร่องด้านคุณภาพ

แรกเริ่มคุณต้องระบุถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง ปัญหาที่พบเจอ หรือ สิ่งที่อยากแก้ไข ในส่วนหัวของปลาให้ได้ก่อน หลังจากนั้นคุณจึงเริ่มหาถึงปัจจัยที่เอื้อให้เกิดสิ่งเหล่านั้น สาเหตุหลักของปัญหาแต่ละส่วน รวมถึงสาเหตุรอง ถ้าคุณยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนแนะนำให้นำผังก้างปลามาใช้คู่กับโมเดลการวิเคราะห์ตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่คุณอยู่ ตามตัวอย่างที่ผมแสดงให้ดูดังนี้ครับ

4Ss (ใช้ในธุรกิจบริการ ) 4S คือ Surrounding Supplier System และ Skill 
4Ps (ใช้ในการทำการตลาด) 
4Ps คือ กรอบความคิดในการทำกลยุทธ์ทางการตลาดที่พิจารณาด้วยกัน 4 ปัจจัย ได้แก่ Product (สินค้า) : คุณจะขายสินค้าอะไร Price (ราคา) : สินค้าหรือบริการของคุณคิดราคาเท่าไหร่และราคามีผลต่อแบรนด์ของคุณอย่างไร Place (สถานที่) : คุณจะโปรโมตสินค้าหรือบริการของคุณที่ไหน / ร้านค้าของคุณควรตั้งที่ใด หรือ ถ้าขายของออนไลน์จะไปขายที่เว็บไซต์ใด Promotion (โปรโมชั่น) : การส่งเสริมการขายของคุณจะใช้กลยุทธ์ใดเพื่อดึงดูดลูกค้า 6Ms สำหรับการผลิต สำหรับอุตสาหกรรมการผลิต โรงงานอุตสาหกรรม คุณอิชิกาวะได้อธิบายถึงปัจจัยที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ว่า 6Ms ในโลกของการผลิต ประกอบด้วย
Manpower  : (กำลังคน/แรงงาน) Method : วิธีการ Machine : เครื่องจักร
Material : วัสดุ Mother Nature : สภาพแวดล้อม Measurement : การวัดผล
ทั้ง 6 ปัจจัยนี้มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกกระบวนการผลิตและทำหน้าที่เป็น ก้าง : สาเหตุหลัก สำหรับการทำแผนภูมิของคุณ เมื่อวาดลงกระดานไวท์บอร์ดจะมีลักษณะดังนี้
วิธีการสร้าง ผังก้างปลา
เทคนิคในการสร้างผังก้างปลาเป็นการผสมผสานระหว่างการระดมความคิด (Brainstorming) กับการทำแผนที่ความคิดผ่านผังก้างปลาเพื่อค้นหาความสัมพันธ์ของเหตุและผลของปัญหาพื้นฐาน เครื่องมือนี้มันผลักดันให้คุณและทีมได้พิจารณาเกือบทุกสาเหตุที่เป็นไปได้ของปัญหาแทนที่จะจมอยู่ปัญหาเดิมๆ หรือปัญหาที่ชัดเจนอยู่ตรงหน้า นอกจากจะช่วยให้คุณเห็นต้นตอของปัญหาแล้วยังช่วยเผยปัญหาคอขวดในกระบวนการของคุณ ระบุพื้นที่ที่กระบวนการของคุณทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ เรามาดู 4 ขั้นตอนการสร้างผังก้างปลา กันครับ
เพื่อให้เห็นภาพ ผมขอยกตัวอย่างจากโรงงานผลิตโลหะที่ใช้เครื่องรีดเหล็กระบบไฮดรอลิค โดยเรากำลังพยายามแก้ปัญหา เครื่องจักรหยุดการทำงานบ่อย : Machine Downtime : OEE40% โดยอยากเพิ่มประสิทธิผลของเครื่องจักรให้ทำงานได้มากขึ้น หยุดการทำงานน้อยลง
ก่อนจะเริ่มทำ โปรดเตรียมกระดานไวท์บอร์ดกับปากกาเมจิกไว้เขียนด้วยนะครับ!!

ขั้นตอนที่ 1 กำหนดปัญหา
ขั้นตอนแรกในการแก้ปัญหาและสร้างแผนภูมิก้างปลา (Fishbone Diagram) ให้ประสบความสำเร็จคือการกำหนดปัญหาที่ถูกต้อง คุณอาจเริ่มด้วยเขียนถึงปัญหาที่คุณกำลังเผชิญให้ทั้งทีมขอคุณได้ทราบว่าปัญหาดังกล่าวเกี่ยวข้องกับใครบ้าง ปัญหาคืออะไร ปัญหาเกิดขึ้นที่ไหน และเกิดขึ้นเมื่อไหร่
จากนั้นเขียน คำชี้แจงปัญหา บนกระดานไวท์บอร์ดอาจจะทำเป็นกล่องปัญหาไว้ทางขวามือแล้วลากเส้นแนวนอนยื่นออกมาทางซ้ายจากส่วนคำชี้แจงปัญหา เส้นแนวนอนที่เป็นกระดูกสันหลังของปลาทำให้คุณพัฒนาความคิดที่เชื่อมต่อกับสาเหตุ


ตัวอย่าง : จากตัวอย่างบริษัทผลิตโลหะที่กำลังการผลิตขึ้นอยู่กับการใช้งานเครื่องจักรไฮดรอลิก แต่ปัญหา คือเครื่องจักรต้องหยุดทำงานเป็นประจำ (Machine Downtime) มีอัตรา OEE (Overall Equipment Effectiveness) มากถึง 40%
หลังจากได้พูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ภายในแล้วมีการตัดสินใจว่านี้คือ เมตริกหลักที่จะต้องปรับปรุงและมีการตั้งเป้าหมายที่จะปรับปรุงให้มีอัตราการหยุดงานของเครื่องจักรลดลงและมีค่า OEE ไม่ต่ำกว่า 80%
เมื่อมีการกำหนดปัญหาอย่างชัดเจนการระบุสาเหตุที่ส่งผลโดยตรงต่อปัญหาจะง่ายกว่ามาก นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการประเมินข้อมูลเพื่อพิจาณาว่ามีปัญหาจริงหรือไม่


แผนภูมิก้างปลา กำหนดปัญหา
เคล็ดลับการกำหนดปัญหา
เมื่อคุณวางส่วนของปัญหาไว้ที่ส่วนหัว หลังจากนั้นให้เลือกเครื่องเมื่อสำหรับพิจารณาสาเหตุหลัก โดยนำสาเหตุหลักที่คิดว่าส่งผลต่อปัญหามากที่สุดไว้ใกล้ส่วนหัวของปลา สาเหตุที่มีผลกระทบน้อยควรวางให้ห่างออกไป
ขั้นตอนที่ 2 ระดมความคิดเกี่ยวกับสาเหตุหลัก
ขั้นตอนที่สอง คือ การตัดสินใจว่าจะจัดหมวดหมู่สาเหตุของปัญหาอย่างไร รวมถึงปัจจัยที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นเรื่องของ วัสดุ กำลังคน เครื่องจักร การวัดผล และสภาพแวดล้อม สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตสาเหตุหลักมักหมุนรอบ 6Ms ที่เราได้พูดถึงก่อนหน้านี้
ในขณะที่คุณระบุสาเหตุหลักได้ ให้ลากเส้นออกจากระดูกสันหลังของปลา แต่เส้นที่ลากออกมาเป็นส่วนของก้าง

ตัวอย่าง : สำหรับตัวอย่างโรงงานผลิตเหล็กมีประเด็น 4 ที่ควรพิจารณาได้แก่

Machine : เครื่องจักร
Manpower : กำลังคน
Mother Nature : สภาพแวดล้อม
Material : วัสดุ
ในกรณีของคุณหากพิจารณาว่าสาเหตุที่เป็นไปได้มีมากกว่านี้สามารถเพิ่มเติมได้ แต่ในกรณีนี้เราพิจารณามาได้ 4 ประเด็นและเมื่อนำมาวาดลงแผนภูมิก้างปลาจะได้ออกมา ดังนี้

เคล็ดลับในการตัดสินใจเลือกสาเหตุหลัก
สำหรับหลายอุตสาหกรรมมีเทมเพลตหรือเครื่องมือที่ช่วยในการกำหนดประเด็นสำคัญเหล่านี้ไว้แล้ว ในการผลิต 6Ms ตามที่เราได้ยกตัวอย่างเป็นที่นิยมที่สุด สำหรับอุตสาหกรรมบริการมักใช้ 4Ss และอตุสาหกรรมการตลาดใช้ 4Ps หรือ 8Ps การใช้เทมเพลตจะช่วยให้คุณเริ่มแก้ปัญหาได้ง่ายยิ่งขึ้น
ขั้นตอนที่ 3 กำหนดสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา
ในขั้นตอนที่สามนี้เป็นกระบวนการระดมความคิดอย่างแท้จริง คุณและทีมจะเริ่มระบุสาเหตุที่เป็นไปได้ของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับแต่ละสาเหตุหลัก โดยการลากเส้นออกมาด้านข้างของก้างที่เป็นสาเหตุหลักที่คุณได้ระบุไว้จากขั้นตอนที่สอง เรียกเส้นนี้ว่า เส้นสาเหตุ

ตัวอย่าง : หากเราพิจารณา Machine : เครื่องจักรไฮดรอลิก สาเหตุที่เป็นไปได้บางประการในการตรวจสอบได้แก่

มีปัญหาซีลเสื่อมสภาพจนทำให้น้ำมันรั่วไหล ต้องหยุดเครื่องเพื่อเปลี่ยนซีล
มอเตอร์ วาล์ว และกระบอกไฮดรอลิก สึกหรอบ่อยครั้ง
เกิดเสียงดังระหว่างการทำงาน
ความดันและโฟร์ ผิดปกติ/ไม่สม่ำเสมอ
หากเราพิจารณา Manpower : กำลังคน สาเหตุที่เป็นไปได้บางประการในการตรวจสอบได้แก่ ผู้ปฎิบัติงานไม่เข้าใจกระบวนการดูแลเครื่องจักรพอดี ผู้ปฎิบัติงานไม่มีความรู้ในการดูแลระบบหล่อลื่นอย่างเพียงพอ ผู้ปฎิบัติงานไม่สามารถระบุปัญหาที่เกิดได้ ผู้ปฎิบัติงานขาดการ บำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance)
ช่างซ่อมบำรุงใบแจ้งซ่อมล้นมือ (Overload) หากเราพิจารณา Mother Nature : สภาพแวดล้อม สาเหตุที่เป็นไปได้บางประการในการตรวจสอบได้แก่ พื้นที่ทำงานมีความชื่นสูง พื้นที่ทำงานมีความร้อนสูงเกินไป พื้นที่ทำงานมีฝุ่นมากจนเข้าไปในระบบหล่อลื่น หากเราพิจารณา Material : วัสดุ สาเหตุที่เป็นไปได้บางประการในการตรวจสอบได้แก่อะไหล่สำรองไม่เพียงพอสั่งอะไหล่ผิดขนาดอะไหล่บางชิ้นต้องสั่งมาจากต่างประเทศทำให้เกิดความล่าช้าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสาเหตุที่เป็นไปได้บางประการ คุณควรเติม แผนภูมิก้างปลาด้วยสาเหตุต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลังจากคุณเลือกใช้เทมเพลตไม่ว่าจะเป็น 6Ms หรือ 8Ps ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ทั้งหมดก็ได้เลือกวิเคราะห์เฉพาะที่จำเป็นและเกี่ยวกับปัญหาที่คุณวิเคราะห์เท่านั้น และสาเหตุหลักบางส่วนอาจจะมีสาเหตุรองมากกว่าส่วนอื่นๆ

เคล็ดลับการพิจารณาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา
เชิญสมาชิกในทีมคนอื่นๆ เข้ามาร่วมในกระบวนการระดมความคิดเพื่อให้แน่ใจว่ามีการระบุสาเหตุที่เป็นไปได้ทั้งหมด
บางสาเหตุอาจมีสาเหตุย่อยหลายประการ การขยายผังก้างปลาของคุณตามลำดับชั้นเพื่อครอบคลุมสาเหตุที่เป็นไปได้ทั้งหมด
ขั้นตอนที่ 4 วิเคราะห์ แผนภูมิก้างปลา ของคุณ
มาถึงขั้นตอนนี้คุณควรมีแผนภูมิก้างปลาที่ผ่านการระดมความคิดมาอย่างเต็มที่แล้ว สิ่งที่คุณควรทำถัดไป คือ การใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ Root Cause Analysis อย่าง 5Whys เพื่อการสืบสวนเจาะลึกลงไปให้ถึงแก่นของแต่ละสาเหตุ เพื่อดูว่าสาเหตุใดเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาจริงๆ

ตัวอย่าง : เมื่อคุณได้สาเหตุของปัญหาในผังก้างปลาแล้ว คุณควรตั้งคำถามว่า ทำไม ทำไม ไปเรื่อยๆ หรืออย่างน้อย 5 ครั้งเพื่อให้ได้คำตอบของปัญหาที่แท้จริง

ทำไมน้ำมันถึงรั่ว >> เพราะซีลเสื่อมสภาพ
ทำไมซีลถึงเสื่อมสภาพ >> เพราะใช้งานนานจนซีลมันแห้งกรอบ
ทำไมซีลถึงแห้งกรอบ >> เพราะน้ำมันไฮดรอลิคมีฤทธิ์เป็นกรด (ค่า TAN สูง)
ทำไมน้ำมันไฮดรอลิคถึงเป็นกรด >> เพราะน้ำมันไฮดรอลิคเกิด Oxidation
ทำไมน้ำมันไฮดรอลิคถึงเกิด Oxidation >> เพราะน้ำมันมีน้ำเข้าไปผสมและโดนความร้อนเร่งปฎิกิริยา
ในกรณีนี้ถ้าโรงงานเหล็กแห่งนี้สามารถควบคุมการปนเปื้องของ น้ำ และ ควบคุมอุณหภูมิได้อย่างเพียงพอก็จะสามารถลดปัญหาซีลเสื่อมสภาพจนน้ำมันรั่วไปได้หนึ่งปัญหา

นี้คือตัวอย่างของการใช้ Fishbone Diagram คู่กับ 5Whys เพื่อหาปัญหาที่แท้จริงที่ซ่อนอยู่
เคล็ดลับการวิเคราะห์แผนภูมิก้างปลา
หากคุณไม่แน่ใจว่าสาเหตุใดที่ต้องตรวจสอบ หรือ ไม่มีประสบการณ์หรือความรู้มากพอ ให้รวบรวมสาเหตุและผลมาให้มากที่สุด และขอคำปรึกษาจากผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์จะช่วยให้คุณแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น
การใช้ 5Whys จะช่วยให้คุณหาสาเหตุที่แท้จริงจนเจอ ไม่ใช่แค่เห็นเพียงอาการตรงหน้า

สรุป
แผนผังก้างปลา (Fishbone Diagram ) คือ เครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพในการระดมความคิดเพราะระบุปัญหาที่คุณกำลังพบเจอ คุณควรเริ่มด้วยการจัดทีมที่เหมาะสม ชี้แจงประเภทของสาเหตุที่สำคัญอาจเริ่มโดยการใช้ 6Ms หลังจากนั้นควรใช้ 5Whys ถามว่า ทำไม เพื่อช่วยให้เข้าถึงต้นเหตุของปัญหาได้เร็วยิ่งขึ้น หวังว่าเครื่องมือนี้จะช่วยให้คุณค้นหาปัญหาจนเจอและแก้ได้อย่างราบรื่นครับ

BY : Tonkla

ที่มา : www.jorportoday.com


บทความที่เกี่ยวข้อง
อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง แต่ไม่มีประสบการณ์? แฟรนไชส์ขนส่งช่วยได้!
หลายคนคงเคยฝันอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเพื่อต้องการอิสระทางเวลา รายได้ที่มั่นคง หรือความภูมิใจในสิ่งที่เราสร้างขึ้นเอง แต่พอคิดจะเริ่มจริงๆ กลับต้องชะงักเพราะ “ไม่มีประสบการณ์” หรือ “ไม่รู้จะเริ่มยังไง” ถ้าคุณกำลังอยู่ในจุดนี้ บทความนี้มีคำแนะนำดีๆ ที่อาจช่วยให้ก้าวแรกของคุณง่ายขึ้น ด้วยทางเลือกที่เรียกว่า “แฟรนไชส์ขนส่ง”
ร่วมมือ.jpg Contact Center
25 เม.ย. 2025
SWOT Analysis คืออะไร? มีความสำคัญอย่างไรต่อธุรกิจ
ในยุคที่การแข่งขันทางธุรกิจสูงขึ้นทุกวัน ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่แค่คนที่มีไอเดียดี แต่ต้อง เข้าใจสถานการณ์ของธุรกิจตัวเอง ทั้งภายในและภายนอกอย่างรอบด้าน ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยให้เห็นภาพเหล่านี้ได้ชัดเจน คือ SWOT Analysis หรือ การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค นั่นเอง
ร่วมมือ.jpg Contact Center
22 เม.ย. 2025
เทคโนโลยีสีเขียวมาแรง! ทำไมธุรกิจในปี 2025 ต้องสนใจ Carbon Footprint
ในปี 2025 นี้ เทรนด์ "เทคโนโลยีสีเขียว" ไม่ได้เป็นเพียงกระแสแฟชั่น แต่ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน และหนึ่งในหัวใจสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ "Carbon Footprint"
ร่วมมือ.jpg เหมาคัน
22 เม.ย. 2025
icon-messenger
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ