การขนส่งแบบ Pipeline หรือการขนส่งโดยใช้ระบบท่อนั้น มักเป็นการขนส่งสิ่งของประเภทของเหลวและก๊าซ เช่น น้ำประปา น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น โดยการขนส่งผ่านระบบท่อนั้นจะแตกต่างจากการขนส่งในทางอื่นๆ คือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการขนส่งนั้นไม่จำเป็นต้องเคลื่อนที่ ซึ่งเส้นทางในการขนส่งนั้นอาจจะอยู่บนดิน ใต้ดินหรือใต้น้ำ ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศของแต่ละพื้นที่ ประเทศแรกที่ใช้ระบบการขนส่งผ่านท่อนั้น คือประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นการใช้สำหรับขนส่งน้ำมัน แต่สำหรับประเทศไทยนั้นก็มีการใช้งานการขนส่งในรูปแบบนี้เช่นกัน โดยเป็นระบบการขนส่งทางท่อสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ
ผู้ประกอบการ ซึ่งในประเทศไทยนั้น ผู้ประกอบการที่สำคัญ ได้แก่ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.)
อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการขนส่ง ได้แก่ ท่อ หรือสายท่อ ที่แบ่งเป็นท่อหลักและท่อย่อย
สถานีในการขนส่ง ได้แก่ สถานีต้นทาง สถานีปลายทาง สถานีแยก สถานีสูบดัน
ข้อดีและข้อเสียของการขนส่งในรูปแบบ Pipeline
ข้อดี
- ประหยัดต้นทุน และเวลาในการเคลื่อนย้ายสินค้า
- สามารถขนส่งสินค้าได้ในทุกสภาพอากาศ
- สามารถขนสินค้าได้ไม่จำกัดเวลาและปริมาณ
- มีความปลอดภัยสูงจากการสูญหายของสินค้าหรือถูกลักขโมย
- สามารถกำหนดเวลาในการขนส่งได้แน่นอน
- ประหยัดค่าแรง เพราะใช้แรงงานคนในการดำเนินการขนส่งน้อย
ข้อเสีย
- สามารถขนส่งได้เฉพาะสินค้าที่สถานะเป็นของเหลวหรือก๊าซเท่านั้น
- มีต้นทุนสูงในการวางระบบครั้งแรก
- การตรวจสอบหาจุดบกพร่องนั้นทำได้ยาก
- เมื่อติดตั้งระบบท่อที่จะใช้ในการขนส่งเสร็จแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนเส้นทางในการขนส่งได้ หรือทำได้แต่ทำได้ ยาก มีค่าใช้จ่ายสูง
- ไม่เหมาะกับการขนส่งในภูมิประเทศที่มีแผ่นดินไหวบ่อย
ถึงแม้ตอนนี้การขนส่งในรูปแบบท่อนั้นจะยังมีข้อจำกัดให้ขนส่งได้เฉพาะของเหลวและก๊าซเท่านั้น แต่ในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ อาจจะเพิ่มความสามารถในการส่งสินค้าในรูปแบบอื่นๆได้มากขึ้น และจะเกิดความสะดวกมากขึ้นไม่น้อยในการขนส่งสินค้าต่างๆในระยะทางไกล ระหว่างหัวเมืองต่างๆ ที่จะทำให้สะดวกและประหยัดเวลาในการขนส่งมากยิ่งขึ้น
BY : BOAT
ที่มา : prosoftgps