แชร์

Fishbone Diagram คือ เรื่องควรรู้เกี่ยวกับ แผนภูมิก้างปลา เพื่อหาสาเหตุและผลกระทบ

อัพเดทล่าสุด: 2 ธ.ค. 2024
22 ผู้เข้าชม

Fishbone Diagram คือ
Fishbone Diagram คือ เครื่องมือในการค้นหาสาเหตุและผลกระทบที่เกิดขึ้น ช่วยให้คุณสามารถหาสาเหตุของข้อบกพร่องและความล้มเหลวในกระบวนการต่างๆ ในภาษาไทยนิยมเรียกสองแบบ คือ แผนภูมิก้างปลา และ ผังก้างปลา

แผนภูมิก้างปลาเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริงของปัญหา เป็นกระบวนการที่มีโครงสร้างช่วยในการช่วยระบุปัจจัยพื้นฐานหรือสาเหตุของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ การทำความเข้าใจถึงปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อต่อการทำงานที่เป็นสาเหตุของความล้มเหลวของระบบสามารถช่วยพัฒนาการดำเนินการที่สนับสนุนการแก้ไขได้

ผังก้างปลา ตามชื่อเป็นแผนภาพที่เลียนแบบโครงกระดูกปลา ปัญหาพื้นฐานถูกวางไว้ในหัวของปลา (หันหน้าไปทางขวา) และสาเหตุจะขยายไปทางซ้ายเช่นเดียวกับโครงกระดูก ก้างปลาแต่ละก้างแสดงถึงสาเหตุสำคัญ ในขณะที่ก้างย่อยแสดงถึงสาเหตุของแต่ละสาเหตุสำคัญ โครงสร้างของผังก้างปลาสามารถแตกแขนงออกไปได้หลายระดับตามความจำเป็นเพื่อหาสาเหตุของปัญหา

แผนภูมิก้างปลาเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำหรับค้นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา แต่ยังมีเครื่องมืออื่นๆ อีกเช่น

Pareto Chart
5 Whys
Failure Mode and Effects Analysis (FMEA)
Casual Factor Tree Analysis
จุดกำเนินแผนภูมิก้างปลา Fishbone Diagram
แนวคิดของ Fishbone Diagram หรือ ผังก้างปลา กล่าวกันว่ามีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2463 แต่ผู้ที่นำมาใช้และทำให้ผังก้างปลาแพร่หลายมาจนถึงทุกวันนี้คือคุณคาโอรุ อิชิกาวะ  (Kaoru Ishikawa) ที่นำผังก้างปลามาใช้ในการจัดการปัญหาและเพิ่มคุณภาพการผลิตสำหรับอู่ต่อเรือคาวาซากิในช่วงปี พ.ศ.2503 พ.ศ.2511



Kaoru Ishikawa รูปภาพจาก www.pharmaceuticalonline.com

คุณคาโอรุ อิชิกาวะ เป็นวิศวกรที่ทำงานที่มหาวิทยาลัยโตเกียว อยู่ในสหภาพนักวิทยาศาสตร์และวิศวะกรแห่งประเทศญี่ปุ่น แนวคิดของ แผนภูมิก้างปลา ที่คุณอิชิกาวะ อธิบายในยุคนั้น แสดงให้เห็นถึงสาเหตุที่แตกต่างกันระหว่างสิ่งที่เกิดก่อนหน้าของปัญหาและผลกระทบที่ระบุไว้

ในยุคนั้นแผนภูมิก้างปลาได้รับความนิยมถึงขนาดที่บริษัท Mazda Motors ใช้ในการพัฒนารถสปอร์ต Mazda MX5

แผนภูมิก้างปลาบางครั้งก็ถูกเรียกว่า แผนภูมิอิชิกาวะ (Ishikawa Diagram/Fishikawa) ตามชื่อผู้ส่งเสริมให้แพร่หลาย

เหตุผลหลัก 4 ประการในการใช้ผังก้างปลา
การแสดงความสัมพันธ์ : ผังก้างปลาจะรวบรวมความสัมพันธ์ระหว่างสาเหตุและผลกระทบที่เป็นไปได้โดยแสดงในลักษณะของแผนภาพที่เข้าใจได้ง่าย
แสดงสาเหตุทั้งหมดพร้อมกัน : สาเหตุหรือห่วงโซ่สาเหตุใดๆ ที่แสดงอยู่บนผังก้างปลาอาจทำให้เห็นถึงสาเหตุที่เป็นไปได้ทั้งหมดและง่ายต่อการนำเสนอปัญหาต่อผู้มีส่วนร่วม
อำนวนความสะดวกในการระดมความคิด : ผังก้างปลาเป็นวิธีการที่ยอดเยี่ยมด้วยความที่โครงสร้างเอื้อให้ทุกคนในทีมช่วยกันระดมความคิด การดูผังก้างปลาอาจกระตุ้นให้ทีมของคุณค้นหาวิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้
ช่วยรักษาโฟกัส : ผังก้างปลาช่วยให้ทีมของคุณมีสมาธิในขณะที่คุณหารือเกี่ยวกับข้อมูลที่คุณต้องรวบรวม ช่วยให้มั่นใจได้ว่าทีมของคุณรวบรวมข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประโยชน์สูงสุด และไม่มีการเสียเวลาไปกับการไล่ตามปัญหาที่ไม่มีอยู่จริง
เมื่อไหร่ควรใช้แผนภูมิก้างปลา
เมื่อต้องการค้นหาสาเหตุของปัญหา ซึ่งปัญหาหนึ่งอาจมีปัจจัยหรือสาเหตุที่เกี่ยวข้องหลายปัจจัย
เมื่อต้องการระดมความคิด เพื่อให้สมาชิกของทีมร่วมกันหาสาเหตุของปัญหาที่ระบุไว้ที่หัวของปลา
ข้อดีและข้อจำกัดของแผนภูมิก้างปลา
เครื่องมือทุกอย่างล้วนมีข้อดีและข้อจำกัดในตัวเองเสมอ การจะใช้งานได้ดีขึ้นอยู่กับว่าคุณเหมาะกับเครื่องมือนั้นๆ ในการแก้ปัญหาหรือไม่ และนี้คือ ข้อดีและข้อจำกัดของผังก้างปลา

ข้อดี
Fishbone Diagram หรือ แผนภูมิก้างปลา นั้นค่อนข้างใช้งานง่าย เช่นเดียวกับ 5Whys และ Brainstorming เทคนิคนี้สามารถเรียนรู้และนำไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว
เนื่องจากการใช้ ภาพ เป็นองค์ประกอบทำให้คนในทีมเห็นสิ่งที่เป็นปัญหาหลัก (ส่วนหัวปลา) และสาเหตุหลักที่มีผลต่อระสิทธิภาพการทำงาน (ส่วนกระดูดสันหลังและก้าง) แผนภาพเหล่านี้ช่วยให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของเหตุและผลที่ผู้วิจัยปัญหาต้องการจะสื่อ
ประวัติที่ยาวนานกว่า 50 ปีช่วยให้มั่นใจได้ว่าแผนภูมิก้างปลา เป็นเทคนิคดั่งเดิมที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้แก้ปัญหาเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหา
ข้อจำกัด
กระบวนการระดมความคิดสามารถก่อให้เกิดสาเหตุที่เป็นไปได้ที่ไม่เกี่ยวข้องพร้อมกับสาเหตุที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก อาจทำให้เกิดความสับสนและเสียเวลา
การสร้างผังก้างปลา การวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริงของเหตุและผลต้องใช้มุมมองจากคนที่มีประสบการณ์ถึงจะสามารถสรุปได้อย่างแม่นยำ
หลายครั้งการระดมความเห็นจากทีมงานหลายคน มักจบด้วยการใช้การ โหวต โดยทีมงานเพื่อระบุปัญหาที่แท้จริง แต่ในความเป็นจริงแล้วการระดมความคิดของทีมงานเป็นเพียงความคิดเห็น ไม่ได้พิสูจน์ว่าสาเหตุต่างๆ ที่เลือกทำให้เกิดปัญหาจริงๆ
ผังก้างปลา โดยตัวมันเองไม่ได้มีหน้าที่ในการแก้ปัญหา จึงจำเป็นต้องใช่คู่กับเครื่องมืออื่นประกอบ
หลักการใช้งาน แผนภูมิก้างปลา
การใช้งานแผนภูมิก้างปลาเพื่อวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริงของปัญหา มีจุดมุ่งหมายเพื่อหาถึงความสัมพันธ์ที่สำคัญระหว่างตัวแปรต่างๆ เป็นการใช้เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ช่วยแก้ปัญหาเดิมที่เคยเจอ นอกจากนี้ยังใช้ในการป้องกันข้อบกพร่องด้านคุณภาพ

แรกเริ่มคุณต้องระบุถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง ปัญหาที่พบเจอ หรือ สิ่งที่อยากแก้ไข ในส่วนหัวของปลาให้ได้ก่อน หลังจากนั้นคุณจึงเริ่มหาถึงปัจจัยที่เอื้อให้เกิดสิ่งเหล่านั้น สาเหตุหลักของปัญหาแต่ละส่วน รวมถึงสาเหตุรอง ถ้าคุณยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนแนะนำให้นำผังก้างปลามาใช้คู่กับโมเดลการวิเคราะห์ตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่คุณอยู่ ตามตัวอย่างที่ผมแสดงให้ดูดังนี้ครับ

4Ss (ใช้ในธุรกิจบริการ ) 4S คือ Surrounding Supplier System และ Skill 
4Ps (ใช้ในการทำการตลาด) 
4Ps คือ กรอบความคิดในการทำกลยุทธ์ทางการตลาดที่พิจารณาด้วยกัน 4 ปัจจัย ได้แก่ Product (สินค้า) : คุณจะขายสินค้าอะไร Price (ราคา) : สินค้าหรือบริการของคุณคิดราคาเท่าไหร่และราคามีผลต่อแบรนด์ของคุณอย่างไร Place (สถานที่) : คุณจะโปรโมตสินค้าหรือบริการของคุณที่ไหน / ร้านค้าของคุณควรตั้งที่ใด หรือ ถ้าขายของออนไลน์จะไปขายที่เว็บไซต์ใด Promotion (โปรโมชั่น) : การส่งเสริมการขายของคุณจะใช้กลยุทธ์ใดเพื่อดึงดูดลูกค้า 6Ms สำหรับการผลิต สำหรับอุตสาหกรรมการผลิต โรงงานอุตสาหกรรม คุณอิชิกาวะได้อธิบายถึงปัจจัยที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ว่า 6Ms ในโลกของการผลิต ประกอบด้วย
Manpower  : (กำลังคน/แรงงาน) Method : วิธีการ Machine : เครื่องจักร
Material : วัสดุ Mother Nature : สภาพแวดล้อม Measurement : การวัดผล
ทั้ง 6 ปัจจัยนี้มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกกระบวนการผลิตและทำหน้าที่เป็น ก้าง : สาเหตุหลัก สำหรับการทำแผนภูมิของคุณ เมื่อวาดลงกระดานไวท์บอร์ดจะมีลักษณะดังนี้
วิธีการสร้าง ผังก้างปลา
เทคนิคในการสร้างผังก้างปลาเป็นการผสมผสานระหว่างการระดมความคิด (Brainstorming) กับการทำแผนที่ความคิดผ่านผังก้างปลาเพื่อค้นหาความสัมพันธ์ของเหตุและผลของปัญหาพื้นฐาน เครื่องมือนี้มันผลักดันให้คุณและทีมได้พิจารณาเกือบทุกสาเหตุที่เป็นไปได้ของปัญหาแทนที่จะจมอยู่ปัญหาเดิมๆ หรือปัญหาที่ชัดเจนอยู่ตรงหน้า นอกจากจะช่วยให้คุณเห็นต้นตอของปัญหาแล้วยังช่วยเผยปัญหาคอขวดในกระบวนการของคุณ ระบุพื้นที่ที่กระบวนการของคุณทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ เรามาดู 4 ขั้นตอนการสร้างผังก้างปลา กันครับ
เพื่อให้เห็นภาพ ผมขอยกตัวอย่างจากโรงงานผลิตโลหะที่ใช้เครื่องรีดเหล็กระบบไฮดรอลิค โดยเรากำลังพยายามแก้ปัญหา เครื่องจักรหยุดการทำงานบ่อย : Machine Downtime : OEE40% โดยอยากเพิ่มประสิทธิผลของเครื่องจักรให้ทำงานได้มากขึ้น หยุดการทำงานน้อยลง
ก่อนจะเริ่มทำ โปรดเตรียมกระดานไวท์บอร์ดกับปากกาเมจิกไว้เขียนด้วยนะครับ!!

ขั้นตอนที่ 1 กำหนดปัญหา
ขั้นตอนแรกในการแก้ปัญหาและสร้างแผนภูมิก้างปลา (Fishbone Diagram) ให้ประสบความสำเร็จคือการกำหนดปัญหาที่ถูกต้อง คุณอาจเริ่มด้วยเขียนถึงปัญหาที่คุณกำลังเผชิญให้ทั้งทีมขอคุณได้ทราบว่าปัญหาดังกล่าวเกี่ยวข้องกับใครบ้าง ปัญหาคืออะไร ปัญหาเกิดขึ้นที่ไหน และเกิดขึ้นเมื่อไหร่
จากนั้นเขียน คำชี้แจงปัญหา บนกระดานไวท์บอร์ดอาจจะทำเป็นกล่องปัญหาไว้ทางขวามือแล้วลากเส้นแนวนอนยื่นออกมาทางซ้ายจากส่วนคำชี้แจงปัญหา เส้นแนวนอนที่เป็นกระดูกสันหลังของปลาทำให้คุณพัฒนาความคิดที่เชื่อมต่อกับสาเหตุ


ตัวอย่าง : จากตัวอย่างบริษัทผลิตโลหะที่กำลังการผลิตขึ้นอยู่กับการใช้งานเครื่องจักรไฮดรอลิก แต่ปัญหา คือเครื่องจักรต้องหยุดทำงานเป็นประจำ (Machine Downtime) มีอัตรา OEE (Overall Equipment Effectiveness) มากถึง 40%
หลังจากได้พูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ภายในแล้วมีการตัดสินใจว่านี้คือ เมตริกหลักที่จะต้องปรับปรุงและมีการตั้งเป้าหมายที่จะปรับปรุงให้มีอัตราการหยุดงานของเครื่องจักรลดลงและมีค่า OEE ไม่ต่ำกว่า 80%
เมื่อมีการกำหนดปัญหาอย่างชัดเจนการระบุสาเหตุที่ส่งผลโดยตรงต่อปัญหาจะง่ายกว่ามาก นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการประเมินข้อมูลเพื่อพิจาณาว่ามีปัญหาจริงหรือไม่


แผนภูมิก้างปลา กำหนดปัญหา
เคล็ดลับการกำหนดปัญหา
เมื่อคุณวางส่วนของปัญหาไว้ที่ส่วนหัว หลังจากนั้นให้เลือกเครื่องเมื่อสำหรับพิจารณาสาเหตุหลัก โดยนำสาเหตุหลักที่คิดว่าส่งผลต่อปัญหามากที่สุดไว้ใกล้ส่วนหัวของปลา สาเหตุที่มีผลกระทบน้อยควรวางให้ห่างออกไป
ขั้นตอนที่ 2 ระดมความคิดเกี่ยวกับสาเหตุหลัก
ขั้นตอนที่สอง คือ การตัดสินใจว่าจะจัดหมวดหมู่สาเหตุของปัญหาอย่างไร รวมถึงปัจจัยที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นเรื่องของ วัสดุ กำลังคน เครื่องจักร การวัดผล และสภาพแวดล้อม สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตสาเหตุหลักมักหมุนรอบ 6Ms ที่เราได้พูดถึงก่อนหน้านี้
ในขณะที่คุณระบุสาเหตุหลักได้ ให้ลากเส้นออกจากระดูกสันหลังของปลา แต่เส้นที่ลากออกมาเป็นส่วนของก้าง

ตัวอย่าง : สำหรับตัวอย่างโรงงานผลิตเหล็กมีประเด็น 4 ที่ควรพิจารณาได้แก่

Machine : เครื่องจักร
Manpower : กำลังคน
Mother Nature : สภาพแวดล้อม
Material : วัสดุ
ในกรณีของคุณหากพิจารณาว่าสาเหตุที่เป็นไปได้มีมากกว่านี้สามารถเพิ่มเติมได้ แต่ในกรณีนี้เราพิจารณามาได้ 4 ประเด็นและเมื่อนำมาวาดลงแผนภูมิก้างปลาจะได้ออกมา ดังนี้

เคล็ดลับในการตัดสินใจเลือกสาเหตุหลัก
สำหรับหลายอุตสาหกรรมมีเทมเพลตหรือเครื่องมือที่ช่วยในการกำหนดประเด็นสำคัญเหล่านี้ไว้แล้ว ในการผลิต 6Ms ตามที่เราได้ยกตัวอย่างเป็นที่นิยมที่สุด สำหรับอุตสาหกรรมบริการมักใช้ 4Ss และอตุสาหกรรมการตลาดใช้ 4Ps หรือ 8Ps การใช้เทมเพลตจะช่วยให้คุณเริ่มแก้ปัญหาได้ง่ายยิ่งขึ้น
ขั้นตอนที่ 3 กำหนดสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา
ในขั้นตอนที่สามนี้เป็นกระบวนการระดมความคิดอย่างแท้จริง คุณและทีมจะเริ่มระบุสาเหตุที่เป็นไปได้ของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับแต่ละสาเหตุหลัก โดยการลากเส้นออกมาด้านข้างของก้างที่เป็นสาเหตุหลักที่คุณได้ระบุไว้จากขั้นตอนที่สอง เรียกเส้นนี้ว่า เส้นสาเหตุ

ตัวอย่าง : หากเราพิจารณา Machine : เครื่องจักรไฮดรอลิก สาเหตุที่เป็นไปได้บางประการในการตรวจสอบได้แก่

มีปัญหาซีลเสื่อมสภาพจนทำให้น้ำมันรั่วไหล ต้องหยุดเครื่องเพื่อเปลี่ยนซีล
มอเตอร์ วาล์ว และกระบอกไฮดรอลิก สึกหรอบ่อยครั้ง
เกิดเสียงดังระหว่างการทำงาน
ความดันและโฟร์ ผิดปกติ/ไม่สม่ำเสมอ
หากเราพิจารณา Manpower : กำลังคน สาเหตุที่เป็นไปได้บางประการในการตรวจสอบได้แก่ ผู้ปฎิบัติงานไม่เข้าใจกระบวนการดูแลเครื่องจักรพอดี ผู้ปฎิบัติงานไม่มีความรู้ในการดูแลระบบหล่อลื่นอย่างเพียงพอ ผู้ปฎิบัติงานไม่สามารถระบุปัญหาที่เกิดได้ ผู้ปฎิบัติงานขาดการ บำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance)
ช่างซ่อมบำรุงใบแจ้งซ่อมล้นมือ (Overload) หากเราพิจารณา Mother Nature : สภาพแวดล้อม สาเหตุที่เป็นไปได้บางประการในการตรวจสอบได้แก่ พื้นที่ทำงานมีความชื่นสูง พื้นที่ทำงานมีความร้อนสูงเกินไป พื้นที่ทำงานมีฝุ่นมากจนเข้าไปในระบบหล่อลื่น หากเราพิจารณา Material : วัสดุ สาเหตุที่เป็นไปได้บางประการในการตรวจสอบได้แก่อะไหล่สำรองไม่เพียงพอสั่งอะไหล่ผิดขนาดอะไหล่บางชิ้นต้องสั่งมาจากต่างประเทศทำให้เกิดความล่าช้าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสาเหตุที่เป็นไปได้บางประการ คุณควรเติม แผนภูมิก้างปลาด้วยสาเหตุต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลังจากคุณเลือกใช้เทมเพลตไม่ว่าจะเป็น 6Ms หรือ 8Ps ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ทั้งหมดก็ได้เลือกวิเคราะห์เฉพาะที่จำเป็นและเกี่ยวกับปัญหาที่คุณวิเคราะห์เท่านั้น และสาเหตุหลักบางส่วนอาจจะมีสาเหตุรองมากกว่าส่วนอื่นๆ

เคล็ดลับการพิจารณาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา
เชิญสมาชิกในทีมคนอื่นๆ เข้ามาร่วมในกระบวนการระดมความคิดเพื่อให้แน่ใจว่ามีการระบุสาเหตุที่เป็นไปได้ทั้งหมด
บางสาเหตุอาจมีสาเหตุย่อยหลายประการ การขยายผังก้างปลาของคุณตามลำดับชั้นเพื่อครอบคลุมสาเหตุที่เป็นไปได้ทั้งหมด
ขั้นตอนที่ 4 วิเคราะห์ แผนภูมิก้างปลา ของคุณ
มาถึงขั้นตอนนี้คุณควรมีแผนภูมิก้างปลาที่ผ่านการระดมความคิดมาอย่างเต็มที่แล้ว สิ่งที่คุณควรทำถัดไป คือ การใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ Root Cause Analysis อย่าง 5Whys เพื่อการสืบสวนเจาะลึกลงไปให้ถึงแก่นของแต่ละสาเหตุ เพื่อดูว่าสาเหตุใดเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาจริงๆ

ตัวอย่าง : เมื่อคุณได้สาเหตุของปัญหาในผังก้างปลาแล้ว คุณควรตั้งคำถามว่า ทำไม ทำไม ไปเรื่อยๆ หรืออย่างน้อย 5 ครั้งเพื่อให้ได้คำตอบของปัญหาที่แท้จริง

ทำไมน้ำมันถึงรั่ว >> เพราะซีลเสื่อมสภาพ
ทำไมซีลถึงเสื่อมสภาพ >> เพราะใช้งานนานจนซีลมันแห้งกรอบ
ทำไมซีลถึงแห้งกรอบ >> เพราะน้ำมันไฮดรอลิคมีฤทธิ์เป็นกรด (ค่า TAN สูง)
ทำไมน้ำมันไฮดรอลิคถึงเป็นกรด >> เพราะน้ำมันไฮดรอลิคเกิด Oxidation
ทำไมน้ำมันไฮดรอลิคถึงเกิด Oxidation >> เพราะน้ำมันมีน้ำเข้าไปผสมและโดนความร้อนเร่งปฎิกิริยา
ในกรณีนี้ถ้าโรงงานเหล็กแห่งนี้สามารถควบคุมการปนเปื้องของ น้ำ และ ควบคุมอุณหภูมิได้อย่างเพียงพอก็จะสามารถลดปัญหาซีลเสื่อมสภาพจนน้ำมันรั่วไปได้หนึ่งปัญหา

นี้คือตัวอย่างของการใช้ Fishbone Diagram คู่กับ 5Whys เพื่อหาปัญหาที่แท้จริงที่ซ่อนอยู่
เคล็ดลับการวิเคราะห์แผนภูมิก้างปลา
หากคุณไม่แน่ใจว่าสาเหตุใดที่ต้องตรวจสอบ หรือ ไม่มีประสบการณ์หรือความรู้มากพอ ให้รวบรวมสาเหตุและผลมาให้มากที่สุด และขอคำปรึกษาจากผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์จะช่วยให้คุณแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น
การใช้ 5Whys จะช่วยให้คุณหาสาเหตุที่แท้จริงจนเจอ ไม่ใช่แค่เห็นเพียงอาการตรงหน้า

สรุป
แผนผังก้างปลา (Fishbone Diagram ) คือ เครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพในการระดมความคิดเพราะระบุปัญหาที่คุณกำลังพบเจอ คุณควรเริ่มด้วยการจัดทีมที่เหมาะสม ชี้แจงประเภทของสาเหตุที่สำคัญอาจเริ่มโดยการใช้ 6Ms หลังจากนั้นควรใช้ 5Whys ถามว่า ทำไม เพื่อช่วยให้เข้าถึงต้นเหตุของปัญหาได้เร็วยิ่งขึ้น หวังว่าเครื่องมือนี้จะช่วยให้คุณค้นหาปัญหาจนเจอและแก้ได้อย่างราบรื่นครับ

BY : Tonkla

ที่มา : www.jorportoday.com


บทความที่เกี่ยวข้อง
ใบ invoice คืออะไร ต้องมีข้อมูลอะไรบ้าง
การทำธุรกิจไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ Invoice คือ เอกสารสำคัญที่ไม่สามารถมองข้ามได้ เพราะเป็นหนึ่งในเครื่องมือหลักในการบันทึกการทำธุรกรรม
4 ธ.ค. 2024
รวม 6 เทรนด์ธุรกิจน่าสนใจในปี 2024 ที่ผู้ประกอบการห้ามพลาด
นโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เทรนด์ใหม่ ๆ มักเกิดขึ้นอยู่เสมอ
4 ธ.ค. 2024
Safety Stock คืออะไร ? สินค้าคงคลังขั้นต่ำควรมีเท่าไหร่
Safety Stock คือ สินค้าคงคลังขั้นต่ำหรือสินค้ากันชน ที่ธุรกิจได้เก็บไว้นอกเหนือจากความต้องการทั่วไป เป็นสินค้ากันชนที่มีการสำรองไว้เพื่อแก้ปัญหาความแปรผันของกำลังการผลิต
4 ธ.ค. 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ