อุตสาหกรรมเดินเรือไปสู่ เรืออัจฉริยะ
อุตสาหกรรมเดินเรือมีการนำเทคโนโลยี และข้อมูลดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลายเพิ่มมากขึ้น เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence), การวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก (Big Data Analytics), การประมวลผลบนคลาวด์ (Cloud Computing) และการเชื่อมโยงหรือส่งข้อมูลถึงกันของอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต (Internet of Things) เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในอุตสาหกรรม ช่วยวางแผนการทำงาน ตลอดจนออกแบบและพัฒนาเรือในรูปแบบใหม่ ให้มีความล้ำสมัย ควบคุมแบบอัตโนมัติ และมีระบบปฏิบัติการอัจฉริยะ เพื่อยกระดับการปฏิบัติภารกิจบนเรือ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และเสริมสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานร่วมกันระหว่างลูกเรือและผู้ปฏิบัติงานบนชายฝั่งได้อย่างดีเยี่ยม
ข้อจำกัดของผู้ประกอบการเดินเรือ
เรือทั้งหมดกว่า 400,000 ลำทั่วโลก มีเพียงไม่ถึง 100,000 ลำ ที่สามารถติดต่อสื่อสารด้วยอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมได้ เนื่องจากผู้ประกอบการต้องเผชิญกับปัญหาด้านงบประมาณและสัญญาณแบนด์วิดท์ที่ถูกจำกัด ขณะเดียวกันผู้ประกอบการหลายรายยังคงพึ่งพาบริการ 4G/LTE ที่มีพื้นที่ให้บริการเฉพาะบริเวณใกล้ชายฝั่งเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตของจำนวนเรือที่ใช้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายหลังจากที่ได้มีการพัฒนาระบบ VSAT และ High Throughput Satellite (HTS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้การติดต่อสื่อสารผ่านดาวเทียมทางทะเลมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ การพัฒนาของโครงข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มให้บริการทั่วโลกอย่างเต็มรูปแบบได้ในอนาคตอันใกล้ จะยิ่งส่งผลในเชิงบวกและนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้
ในยุคดิจิทัล เรือมีความฉลาดมากขึ้น
ผู้ประกอบการเดินเรือในปัจจุบัน มีความจำเป็นต้องติดต่อสื่อสารผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีเสถียรภาพและความปลอดภัยระหว่างปฏิบัติภารกิจกลางทะเล ไม่เพียงเพื่อใช้ในการทำงานในแต่ละวัน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันเท่านั้น แต่ยังใช้เพื่อการตัดสินใจในเชิงกลยุทธ์อีกด้วย ในอดีตการติดต่อสื่อสารทางทะเลมีวัตถุประสงค์หลักเพียงเพื่อรับ-ส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือ และสื่อสารกับสำนักงานบนชายฝั่งเกี่ยวกับกิจกรรมและการดำเนินงานบนเรือ เช่น การรับ-ส่งอีเมล และการใช้งานโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต (VoIP) แต่ทุกวันนี้ ผู้ประกอบการได้นำเครื่องมือหรือแพลตฟอร์มการทำงานร่วมกันในยุคดิจิทัล ตลอดจนระบบการประชุมในรูปแบบวิดีโอเข้ามาใช้งานมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเรือสนับสนุนกิจการนอกชายฝั่ง (Offshore Support Vessel) ช่วยให้การทำงานร่วมกันของทีมงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถแก้ปัญหาและตัดสินใจได้อย่างตรงจุดและรวดเร็ว ดังนั้น เรือจึงกลายมาเป็นศูนย์ปฏิบัติการบนท้องทะเลที่จำเป็นต้องติดต่อสื่อสารกับสำนักงานบนชายฝั่ง และเรือลำอื่นๆ ได้ตลอดเวลา
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ไม่ว่าจะเป็น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence), การวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก (Big Data Analytics), การประมวลผลบนคลาวด์ (Cloud Computing) และการเชื่อมโยงหรือส่งข้อมูลถึงกันของอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต (Internet of Things) เริ่มเข้ามามีส่วนช่วยให้อุตสาหกรรมเดินเรือได้รับประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น จากการประเมิน พบว่าปัจจุบัน ในทุกๆ เดือนมีปริมาณข้อมูลที่ถูกใช้งานบนเรือขนส่งสินค้าแต่ละลำมากกว่า 100GB แต่มีข้อมูลเพียง 10-15% ที่ถูกส่งไปยังสำนักงานบนชายฝั่ง และจากการใช้งานของลูกค้าบริการสื่อสารผ่านดาวเทียมทางทะเล ภายใต้แบรนด์ Nava ของเรา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรือสนับสนุนกิจการนอกชายฝั่ง พบว่าในปี 2565 ที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยเรือแต่ละลำจะมีปริมาณการรับ-ส่งข้อมูลผ่านดาวเทียมประมาณเดือนละ 60GB เพิ่มขึ้น 41% จากปี 2564 และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเก็บรวบรวมข้อมูลบนเรือและส่งกลับมายังสำนักงานบนชายฝั่งดังกล่าว เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์เป็นข้อมูลการบริหารจัดการและการเดินเรือในเชิงลึก เพื่อนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจในเชิงกลยุทธ์ ยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้
และเป็นอัจฉริยะมากขึ้น
เรือที่มีระบบปฏิบัติการอัตโนมัติ สามารถทำงานได้อย่างชาญฉลาดโดยคุณไม่ต้องควบคุม เช่นเดียวกับรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้อย่างคล่องตัว เทคโนโลยีเซ็นเซอร์อัจฉริยะจะช่วยให้เรือล่องอยู่บนเส้นทางได้อัตโนมัติ (Maritime Autonomous Surface Ships หรือ MASS) โดยการตรวจสอบเส้นทางผ่านกล้องวิดีโอ ระบบเรดาร์ กล้องถ่ายภาพความร้อน และเลเซอร์ ซึ่งจะช่วยบอกตำแหน่ง รายงานสถานการณ์ และสถาพแวดล้อมต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เรืออัจฉริยะลำแรกเพิ่งถูกนำมาใช้งาน ปัจจุบันมีเรืออีกหลายลำได้ทยอยเปิดตัวและอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาให้เป็นเรืออัจฉริยะ ถึงแม้ว่าระบบปฏิบัติการอัตโนมัติของเรือจะสามารถช่วยลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานของมนุษย์ ระบบดังกล่าวยังคงต้องอาศัยการป้อนข้อมูล การตรวจสอบและการเฝ้าระวังจากศูนย์ปฏิบัติการและควบคุมบนชายฝั่ง เพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยตลอดเส้นทาง การติดต่อสื่อสารระหว่างเรือและสำนักงานบนชายฝั่งจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ตลาดการผลิตเรืออัจฉริยะกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีการพัฒนาที่น่าทึ่งอีกมากมาย
Nava (นาวา) บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมทางทะเล
Nava บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมทางทะเล เพื่อให้ผู้ประกอบการเดินเรือและกิจการนอกชายฝั่งได้รับความสะดวกในการติดต่อสื่อสารได้ทุกที่ ทุกเวลา แบบครบวงจร ด้วยสัญญาณที่มีเสถียรภาพ และมีทีมงานคอยให้ความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติภารกิจกลางทะเล สร้างความมั่นใจด้านมาตรฐานความปลอดภัย ตลอดจนยกระดับสวัสดิการและคุณภาพชีวิตให้กับลูกเรือและผู้โดยสาร ในปีนี้ นับเป็นก้าวสำคัญที่เราได้ขยายพื้นที่ให้บริการครอบคลุมทั่วโลก เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ เราพร้อมมุ่งมั่นที่จะเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมเดินเรือเติบโต มีความยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถติดต่อสื่อสารในทุกการเดินทาง
BY : NUN